วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รูปแบบการสอนแบบโมเดลชิปปา(CIPPA Model)


รูปแบบการสอนแบบโมเดลชิปปา(CIPPA Model)
         
          ทัศนวรรณ รามณรงค์ (2555) หลักการจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโมเดลซิปปา ( CIPPA Model )  หลักการจัดการเรียนการสอนโมเดลซิปปา เป็นหลักที่นำมาใช้จัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง(Construction of knowledge) ซึ่งนอกจากผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเองและพึ่งตนเองแล้วยังต้องพึ่งการมีปฏิสัมพันธ์ (interaction) กับเพื่อนๆ บุคคลอื่นๆ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวรวมทั้งต้องอาศัยทักษะกระบวนการ (process skills) ต่างๆ จำนวนมากเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้โดยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการรับรู้และเรียนรู้อย่างตื่นตัว ผู้เรียนได้มีการเคลื่อนไหวทางกาย  อย่างเหมาะสม และจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี เข้าใจลึกซึ้งและอยู่คงทนมากขึ้นหากผู้เรียนมีโอกาสนำความรู้มาประยุกต์ใช้ ในสถานการณ์ที่หลากหลาย เสนอแนวคิดโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ทิศนา แขมมณี อาจารย์ประจำภาควิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีจุดเน้นที่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทั้งทางร่างกาย สติปัญญา สังคม และอารมณ์ 

          หลักการจัดของโมเดลซิปปา มีองค์ประกอบที่สำคัญ
 5 ประการ ได้แก่
        C มาจากคำว่า Construct หมายถึง การสร้างความรู้  ตามแนวคิด การสรรค์สร้างความรู้ได้แก่ กิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสสร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ผู้เรียนเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อตนเองกิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสติปัญญา
        I มาจากคำว่า Interaction หมายถึง การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว  ได้แก่ กิจกรรมที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล เช่น ครู เพื่อน ผู้รู้ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เช่น แหล่งความรู้ และสื่อประเภทต่าง ๆ กิจกรรมนี้ ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม
         P มาจากคำว่า Physical Participation หมายถึง การมีส่วนร่วมทางกาย  ได้แก่ กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนมีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะต่าง ๆ
         P มาจากคำว่า Process Learning หมายถึง การเรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ  ที่เป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนทำเป็นขั้นตอนจนเกิดการเรียนรู้ ทั้งเนื้อหาและกระบวนการ กระบวนการที่นำมาจัดกิจกรรม เช่น กระบวนการคิด กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการกลุ่ม กระบวนการแสวงหาความรู้ เป็นต้น กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสติปัญญา
         A มาจากคำว่า Application หมายถึง การนำความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆได้แก่ กิจกรรมที่ให้โอกาสผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ได้หลายอย่างแล้วแต่ลักษณะของกิจกรรม

ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักโมเดลซิปปา 
          โมเดลซิปปามีองค์ประกอบสำหรับการจัดการเรียนการสอนที่สำคัญ 5 ประการ ครูสามารถเลือกรูปแบบ วิธีสอน กิจกรรมใดก็ได้ที่สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามองค์ประกอบทั้ง 5 อีกทั้งการจัดกิจกรรมก็สามารถจัดลำดับองค์ประกอบใดก่อนหลังได้เช่นกัน และเพื่อให้ครูที่ต้องการนำหลักการของโมเดลซิปปาไปใช้ได้สะดวกขึ้น รองศาสตราจารย์ ดร. ทิศนา แขมมณี จึงจัดขั้นตอนการสอนเป็น 7 ขั้น ดังนี้
        1. ขั้นทบทวนความรู้เดิม  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตน กิจกรรมในขั้นนี้ ได้แก่ การสนทนาซักถามให้ผู้เรียนบอกสิ่งที่เคยเรียนรู้ การให้ผู้เรียนเล่าประสบการณ์เดิม หรือการให้ผู้เรียนแสดงโครงสร้างความรู้ (Graphic Organizer ) เดิมของตน
        2. ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่  เพื่อให้ผู้เรียนหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ
        3. ขั้นศึกษาทำความเข้าใจความรู้ใหม่  และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความหมายของข้อมูลหรือประสบการณ์ใหม่ สรุปความเข้าใจแล้วเชื่อมโยงกับความรู้เดิม
กิจกรรมในขั้นนี้ ได้แก่ การให้ผู้เรียนใช้กระบวนการต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น กระบวนการคิด กระบวนการกลุ่มหรือกระบวนการแก้ปัญหา สร้างความรู้ขึ้นมา
        4. ขั้นแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม  เพื่ออาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ และขยายความรู้ความเข้าใจของตนให้กว้างขึ้น กิจกรรมนี้ ได้แก่ การให้ผู้เรียนแต่ละคนแบ่งปันความรู้ความเข้าใจให้ผู้อื่นรับรู้และให้กลุ่มช่วยกันตรวจสอบความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
        5. ขั้นสรุปและจัดระเบียบความรู้  เพื่อให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย
กิจกรรมนี้ ได้แก่ การให้ผู้เรียนสรุปประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย มโนทัศน์หลักและมโนทัศน์ย่อย ของความรู้ทั้งหมด ทั้งความรู้เดิมและความรู้ใหม่แล้วนำมารวบรวมเรียบเรียงให้ได้ใจความสาระสำคัญครบถ้วน สะดวกแก่การจดจำ ครูอาจให้ผู้เรียนจัดเป็นโครงสร้างความรู้ ( Graphic Organizer ) ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยในการจดจำข้อมูลได้ง่าย
        6. ขั้นแสดงผลงาน  เพื่อให้โอกาสผู้เรียนได้ตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตนด้วยการได้รับข้อมูลย้อนกลับจากผู้อื่น กิจกรรมนี้ ได้แก่ การให้ผู้เรียนแสดงผลงานการสร้างความรู้ของตนด้วยวิธีการ ต่าง ๆ เช่น จัดนิทรรศการ จัดการอภิปราย แสดงบทบาทสมมติ เขียนเรียงความ วาดภาพ แต่งคำประพันธ์ เป็นต้น และอาจมีการจัดประเมินผลงานโดยใช้เกณฑ์ที่เหมาะสม
        7. ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้  เพื่อฝึกฝนให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจ และความชำนาญ กิจกรรมนี้ ได้แก่ การที่ครูให้ผู้เรียนมีโอกาสแสดงวิธีใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเท่ากับส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ ในระยะแรกครูอาจตั้งโจทย์สถานการณ์ต่าง ๆ แล้วให้ผู้เรียนนำความรู้ที่มีมาใช้ในสถานการณ์นั้น

ข้อค้นพบจากการวิจัย
          https://woraka.files.wordpress.com จากการจัดการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้แบบโมเดลซิปปา มีข้อค้นพบจากการวิจัยครั้งนี้
         
1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน อดิศร สิริ (2543 ได้ทำการวิจัยเรื่องพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโดยใช้โมเดลซิปปา สำหรับวิชาชีววิทยาในระดับมัธยมศึกษาที่ 5 พบว่า กิจกรรมการเรียนการสอนที่ได้พัฒนาขึ้นดังกล่าวทำให้นักเรียนมีความเข้าใจในเนื้อหา วิชาที่เรียน การมีส่วนร่วมในการเรียนทำให้นักเรียนมีความสนใจ สนุกสนานและนักเรียนได้พัฒนาทักษะกระบวนการในการเรียนรู้ นอกจากนั้นแล้วนักเรียนได้นำความรู้เดิมมาผสมผสานกับความรู้ใหม่เกิดการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวของนักเรียนเอง ทั้งจากการเรียนและการลงมือปฏิบัติจริง และนักเรียนยังสามารถนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เมื่อศึกษาด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโรงเรียน กล่าวคือ นักเรียนได้คะแนนสูงกว่าร้อยละ 60 และจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์เป้าหมายที่เป็น  100 % ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดและนิตติญาพร ประเสริฐสังข์ (2545) ได้ทำการวิจัยเรื่องการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องกลไกมนุษย์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยรูปแบบการสอนแบบซิปปา พบว่านักเรียนมีความกระตือรือร้น  และสนุกสนานกับการเรียน แล้วผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผ่านเกณฑ์ความรอบรู้ร้อยละ 60 ของคะแนนเต็มที่กำหนดไว้
         
2 ความสนใจต่อการเรียน ดอกคูณ วงวันวัฒนา (2544) ได้ทำการวิจัยเรื่องการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยใช้รูปแบบซิปปาในวิชาฟิสิกส์ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่านักเรียนทุกคนให้ความสนใจต่อการเรียนมากขึ้น มีความสนุกสนานและให้ความร่วมมือในการเรียนและนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
         
3 ความสุขในการเรียน วาระยาณีย์ เพชรมณี (2546) วิจัยพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนวิชาชีววิทยาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบซิปปา พบว่าการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาชีววิทยาโดยใช้รูปแบบซิปปาทำให้นักเรียนมีความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนได้ง่ายขึ้น มีความกระตือรือร้น มีความสุข รู้สึกสนุกในการเรียน นักเรียนรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเองมีความรับผิดชอบในหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายกล้าแสดงออก สามารถอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับเพื่อนในชั้นเรียนในขณะทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองและสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เมื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่านักเรียนร้อยละ 88.37 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาชีววิทยาผ่าเกณฑ์มาตรฐานที่โรงเรียนกำหนดไว้ คือ ร้อยละ 60 ของคะแนนเต็มต่อไป

สรุป

          หลักการจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโมเดลซิปปา (
 CIPPA Model ) 
เป็นหลักที่นำมาใช้จัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งนอกจากผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเองและพึ่งตนเองแล้วยังต้องพึ่งการมีปฏิสัมพันธ์ กับเพื่อนๆ บุคคลอื่นๆ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวรวมทั้งต้องอาศัยทักษะกระบวนการต่างๆ จำนวนมากเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้โดยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการรับรู้และนำความรู้มาประยุกต์ใช้ ในสถานการณ์ที่หลากหลาย
หลักการจัดของโมเดลซิปปา มีองค์ประกอบที่สำคัญ
 5 ประการ ได้แก่
          C มาจากคำว่า Construct หมายถึง การสร้างความรู้  ตามแนวคิด การสรรค์สร้างความรู้
          I มาจากคำว่า Interaction หมายถึง การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว  
          P มาจากคำว่า Physical Participation หมายถึง การมีส่วนร่วมทางกาย  ได้แก่ กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนมีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะต่าง ๆ
          P มาจากคำว่า Process Learning หมายถึง การเรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ  ที่เป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
          A มาจากคำว่า Application หมายถึง การนำความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง
ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักโมเดลซิปปา 
          1. ขั้นทบทวนความรู้เดิม  
          2. ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่  
          3. ขั้นศึกษาทำความเข้าใจความรู้ใหม่  
          4. ขั้นแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม  
          5. ขั้นสรุปและจัดระเบียบความรู้  
          6. ขั้นแสดงผลงาน  
          7. ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้  

ที่มา
ทัศนวรรณ รามณรงค์.(2555). https://www.gotoknow.org/posts/547887.[ออนไลน์] เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม               2561.
https://woraka.files.wordpress.com.[ออนไลน์] เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2561.

         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ นวัตกรรมทางการเรียนการสอน           http://noompaiboon.blogspot.com ความหมายของนวัตกรรมทางการเรี...